เขียนสกู๊ปให้โดนใจ คลุกวงในผู้บริโภค

เขียนสกู๊ปให้โดนใจ คลุกวงในผู้บริโภค

เขียนสกู๊ปให้โดนใจ คลุกวงในผู้บริโภค

สกู๊ป คือการกำหนดประเด็นเรื่องที่น่าสนใจ กำหนดเรื่องราว เนื้อหา เป้าหมาย จนไปถึงการวางแผนเพื่อที่จะมานำเสนอ
การเขียนสกู๊ปนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเล่าเรื่องราวที่กำลังได้รับความนิยมกันในปัจจุบัน บนพื้นที่สื่อหนังสือพิมพ์รวมไปถึงสื่อออนไลน์

โดยสกู๊ปนั้นจะสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ละเอียดว่าเนื้อหาข่าวธรรมดา ผู้อ่านสามารถเห็นภาพรวมของเรื่องราวที่เล่าผ่านสกู๊ปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ลักษณะคล้ายกับการเขียนสารคดี แต่ว่ามีความกระชับและสั้นกว่าโดยผู้เขียนจะต้องมีทักษะทั้งการเขียนและการใช้ภาษาในการดำเนินเรื่องราวในการถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดี สกู๊ปเรื่องหนึ่ง ๆ จะมีความยาวประมาณ 4 หน้ากระดาษ A4

เมื่อเราต้องการจะเขียนสกู๊ปขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง อันดับแรกคือจะต้องพิจารณาว่าเราต้องการจะเล่าเรื่องอะไร โดยยึดเนื้อหาจากประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนั้นและเป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้อ่านหรือได้รับฟัง

เมื่อกำหนดเรื่องราวที่ต้องการจะเขียนสกู๊ปได้แล้ว จึงนำเรื่องที่เราต้องการจะเขียนมาทำการตั้งประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องการจะเล่า ทำการวางโครงเรื่อง โดยการเรียบเรียงประเด็น ก่อน หลัง ตอนต้น ตอนกลาง ตอนท้าย พิจารณาดูความสำคัญของเนื้อหาที่มีความสำคัญมากไปหาน้อย โดยขั้นตอนการเขียนสกู๊ป จะประกอบไปด้วย

1. กำหนดประเด็น

ในการเขียนสกู๊ป จำเป็นต้องทำการคิดประเด็นของเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ โดยจะต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และมีความน่าสนใจ หรืออาจจะเป็นเรื่องราวที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันก็ได้

2. ตั้งหัวข้อสกู๊ป

ทำการกำหนดจุดประสงค์ เลือกโจทย์ที่ต้องการ กำหนดโครงเรื่องให้สอดคล้องกับเป้าหมาย กำหนดข้อความพาดหัวข่าว เพื่อบอกให้ผู้อ่านทราบได้ว่าเราต้องการให้อ่านในเรื่องเกี่ยวกับอะไร เรื่องนี้มีความสำคัญมากแค่ไหน มีความน่าสนใจมากเพียงใด ซึ่งการพาดหัวข่าวที่ดีนั้นจะต้องสามารถสรุปใจความสำคัญของเนื้อหาได้ทั้งหมด

3. การวางแผนการทำงาน

เมื่อกำหนดหัวข้อได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือการวางแผนการทำงาน โดยเราต้องกำหนดแผน จัดตั้งทีมงาน เตรียมข้อมูล เตรียมงบประมาณที่ต้องใช้จ่าย ทำการประชุมเพื่อวางแผนงาน

จากนั้นจึงสรุปข้อมูลที่จะต้องใช้ในสกู๊ป เช่น แหล่งข้อมูลอ้างอิง ที่มา คนที่จะเข้าไปสัมภาษณ์ การถ่ายภาพประกอบ ต้องทำการกำหนดแนวทางในการเขียน การทำงาน ตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูล และจัดแบ่งงานให้เหมาะสม

4. ทำการเก็บข้อมูล

เมื่อวางแผนการทำงานเรียบร้อยดีแล้ว ก็เป็นในส่วนของขั้นตอนการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล สำหรับตอบคำถามและเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดหายไป โดยยึดจากโครงเรื่องที่ได้กำหนดเอาไว้ บุคคลที่กำหนดไว้เพื่อทำการสัมภาษณ์ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ หรือมีความเชี่ยวชาญ หรือมีความเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ

5. การเรียบเรียงข้อมูลที่ได้มา

เมื่อเราทำการลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ความรู้สึก ข้อชี้แนะ ให้นำข้อมูลที่ได้มาทำการเรียบเรียง โดยเริ่มจากส่วนไหนก่อนก็ได้ แต่ถ้าหากอยากให้เนื้อหาดูมีความน่าสนใจ จะต้องทำการเรียบเรียงข้อมูลในเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดก่อน โดยใช้ตัวละครที่มีความใกล้ชิดหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนั้น ๆ

จากนั้นจึงค่อยนำเสนอประเด็นในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การอธิบายโดยใช้ข้อมูลหรือทฤษฏีอ้างอิง จากนั้นจึงลงไปสู่แนวทางแก้ไข และจบด้วยอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

6. สรุปเนื้อหา

เมื่อนำเสนอข้อมูลของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การสรุปเนื้อหาถือเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะต้องบอกคนดูและบอกตัวเราได้ว่าเนื้อหาที่เราได้นำเสนอไปนั้น ตอบโจทย์ที่เราได้ตั้งเอาไว้ในตอนแรกหรือไม่ อย่างไร

เมื่อได้ทุกอย่างตอบโจทย์ตามที่ต้องการแล้ว จึงลงมือเขียนสกู๊ปเพื่อเล่าเรื่องราว ภาษาที่ใช้ในการเขียนสกู๊ปไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน เป็นการเขียนที่ไม่เป็นทางการมากเท่าการเขียนข่าวหรือสารคดี เพราะจะเป็นในลักษณะของการเขียนเล่าเรื่องราว ที่อาจมีการสอดแทรกความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเข้าไปในระหว่างเนื้อหา โดยใช้คำพูดหรือประโยคที่เป็นสำนวนของผู้เขียนสกู๊ปเอง

แต่ในบางเนื้อหา ก็อาจต้องใช้ภาษาที่ค่อนข้างเป็นทางการ หรือใช้ภาษาพูดที่ค่อนข้างสุภาพ หรือเป็นทางการพอสมควร ไม่ใช่ภาษาพูดในลักษณะที่ใช้กันของดีเจตามสถานีวิทยุต่าง ๆ

ซึ่งในการนำเสนอเนื้อหาสกู๊ป มักจะขึ้นต้นอย่างไม่อ้อมค้อม แต่ขึ้นต้นด้วยประเด็นที่ต้องการนำเสนอไปเลย เช่น ขึ้นต้นด้วยคำถาม บุคคล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและมีแหล่งข้อมูลอ้างอิง เช่นตัวบุคคล หนังสือ หรืออาจเป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนประสบมาด้วยตนเองก็ได้

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กว่าที่เราจะได้สกู๊ปมาสักเรื่องหนึ่งนั้น ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ มานำเสนอให้กับผู้ชมหรือผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ หากต้องการให้สกู๊ปของเรามีความน่าสนใจ หรือได้รับความสนใจจากผู้คนมากยิ่งขึ้น เราอาจจะหยิบยกประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ หรือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นที่กล่าวถึง ณ ขณะนั้น ๆ ขึ้นมาเขียนสกู๊ป ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูแนวโน้ม ทิศทาง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้โดยใช้ช่องทาง Social media ต่าง ๆ หมั่นเข้าไปสังเกตการณ์ และคอย update ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ

ประเด็นไหน หรือเหตุการณ์ใดที่ผู้คนให้ความสนใจหรือกำลังเป็นกระแสอยู่ เราก็สามารถหยิบยกประเด็นนั้นขึ้นมาเขียนสกู๊ปได้ โดยอย่าลืมว่าจะต้องเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และมีบุคคลหรือแหล่งอ้างอิงในการสนับสนุนข้อมูลในสกู๊ปที่ชัดเจนทุกครั้งด้วยนะคะ

Get A Quote

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *